หมวดหมู่: ธปท.

BOAจาตรงค จนทรงษ copy


กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบายที่ 1.5% ตามคาด หลังศก.ยังโตต่อเนื่อง พร้อมติดตามค่าเงินบาทใกล้ชิด เหตุยังมีแนวโน้มผันผวน

     กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี หลังเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี มั่นใจเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาอยู่ในกรอบ 1-4% ภายในไตรมาส 2/61 พร้อมยังต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด หลังมองค่าเงินบาทยังผันผวนในระยะต่อไป

      นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และ ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศรวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังมั่นใจว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาอยู่ในกรอบ 1-4% ภายในไตรมาส 2/61 เช่นเดิม แต่ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนมาจากราคาน้ำมัน แต่ยังมีความเสี่ยงจากราคาอาหารสดที่ยังมีความผันผวนสูง

     “ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป คณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้”นายจาตุรงค์ กล่าว

       สำหรับ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้นจากการส่งออกสินค้า และ บริการที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ

       อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน และ หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และ ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ

      ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าไปบ้าง โดยเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ และ การค้าของสหรัฐ และ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

     ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

     ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย และ เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs เริ่มปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจ และ หลายพื้นที่มากขึ้น

      “นโยบายการเงินของไทยจะพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าต่างประเทศ แม้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย เราก็ไม่จำเป็นที่ต้องขึ้นตาม เพราะดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพการเงิน และ policy balance เป็นหลัก แต่ก็เร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้”นายจาตุรงค์ กล่าว

      ด้านอัตราแลกเปลี่ยน มองว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และ ยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งคณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

     คณะกรรมการเห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)

       นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และ ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำ และ ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ รูปแบบการทำธุรกิจ

      “กนง. มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อ คณะกรรมการจึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ”นายจาตุรงค์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!