หมวดหมู่: การแพทย์-สธ

1aaa เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม


อย. เปิดระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบโฆษณาเกินจริง

    อย. เริ่มเปิดสิทธิให้ประชาชนเข้าใช้ระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณายา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ช่วยกันตรวจสอบการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันสมัย

      เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มุ่งเน้น การคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในด้านหนึ่งได้มีการกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ที่เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมามักพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตามกฎหมายการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ อาหารที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ และเครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน และผู้รับอนุญาตจะต้องแสดงเลขที่รับอนุญาตโฆษณาในชิ้นงานโฆษณานั้น ๆ ด้วย

       โดย อย. มีระบบฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณาเก็บข้อมูลรายละเอียดของข้อความที่ขออนุญาตและวันหมดอายุใบอนุญาต ซึ่งในระยะแรกให้สิทธิแก่ส่วนราชการและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. จึงได้เปิดให้ประชาชนเข้าใช้งานระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา โดยสามารถเข้าใช้งานระบบได้ 2 ช่องทาง คือ ช่องทางที่ 1 เข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ ของ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา” เพื่อเข้าตรวจสอบเลขอนุญาตโฆษณาเบื้องต้น ซึ่งมีรูปแบบการใช้งานคล้ายกับระบบตรวจสอบเลขอนุญาตผลิตภัณฑ์ และหากต้องการรายละเอียดเพิ่มขึ้น สามารถดูจากหน้าคำขอโฆษณา โดยใช้ช่องทางที่ 2 สร้างบัญชีผู้ใช้และยืนยันตัวบุคคลในระบบ Open ID พร้อมกับแจ้งขอสิทธิเพื่อเข้าใช้ระบบจาก อย. ผ่านเว็บไซต์ https://privus.fda.moph.go.th หัวข้อ “เจ้าหน้าที่หน่วยงานภายนอก”

     ทั้งนี้ การตรวจสอบใบอนุญาตโฆษณา ต้องตรวจสอบว่า ขออนุญาตโฆษณาผ่านทางช่องทางใด ข้อความและภาพที่ขออนุญาตตรงกับที่เผยแพร่โฆษณาหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลขออนุญาตไม่ตรงกับชิ้นงานโฆษณาที่เผยแพร่ จะถือว่าไม่ได้รับอนุญาตโฆษณา และหากพบภาพหรือข้อความโฆษณาในลักษณะโอ้อวดเกินจริง จะถือว่าโฆษณาเป็นเท็จ ซึ่ง อย. ได้มีการเฝ้าระวังตรวจสอบการโฆษณาผิดกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ ร่วมกับเครือข่าย เช่น กสทช. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างเข้มข้น หากพบการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต  มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

     รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้ประกอบการ การโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่าง ๆ ถือเป็นความผิด และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ หากต้องการสอบถามเกี่ยวกับการเปิดสิทธิเข้าใช้งาน สามารถติดต่อได้ที่ 02-590-7410 และหากพบโฆษณาที่น่าสงสัย อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

อย. เผยสถิติเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย มุ่งคุ้มครองให้ผู้บริโภคปลอดภัย

     อย. เฝ้าระวัง ตรวจสอบเข้ม ผลิตภัณฑ์สุขภาพและโฆษณาผิดกฎหมาย มุ่งคุ้มครองให้ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริง เผยสถิติปีงบ 62 ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อต่าง ๆ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย 1,570 รายการ การร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทาง รวม 1,750 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด และได้มีการสั่งระงับการโฆษณา ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิด ทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดี รวมกว่า 1.7 ล้านบาท ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวมเป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท ย้ำ อย. จะเดินหน้าร่วมกับภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี

    เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย. มีภารกิจหลักในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมกันนี้ยังส่งเรื่องต่อไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. ในการระงับ,เปรียบเทียบปรับสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ กระทรวงดีอี ระงับ/ปิดกั้นเว็บไซต์ บก.ปคบ. ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ สคบ. กรณีการเรียกร้องค่าเสียหาย การดำเนินธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ได้มีการเฝ้าระวังข่าวสาร และ การแจ้งเตือนจากต่างประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับอี - มาร์เก็ตเพลสในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายบนหน้าเว็บไซต์ของตนด้วย

      ทั้งนี้ เผยสถิติในปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561 - 30 กันยายน 2562) ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 24,482 รายการ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย 1,570 รายการ และ พบการร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทางของ อย. ทั้งหมด 1,750 เรื่อง โดยพบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด 930 เรื่อง รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ยา 300 เรื่อง และ เครื่องสำอาง 257 เรื่อง โดยประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดถึง 451 เรื่อง และได้มีการสั่งระงับการโฆษณา ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดีค่าปรับรวม 1,724,000 บาท ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,802,200 บาท

      รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะไม่หยุดนิ่งในการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพและการโฆษณาทางช่องทางต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ย้ำเตือนผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา ป้องกัน หรือรักษาโรคได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบการโฆษณาเกินจริงในหลายลักษณะ เช่น ลดน้ำหนักสัดส่วนได้รวดเร็ว รักษาได้สารพัดโรค เป็นยาอายุวัฒนะที่อัศจรรย์ ส่วนผลิตภัณฑ์ยา อย. ไม่อนุญาตให้จำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ และมักพบการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคร้ายแรงได้หายขาดยอดเยี่ยม โดยอาจมีผู้แอบอ้างเป็นแพทย์ออกมาให้คำรับรองยืนยันว่าเป็นความจริง สำหรับเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ก็มักพบการโฆษณาว่าช่วยรักษา ฝ้า - กระ ลดสิว ทำให้หน้าขาวใสถาวร กระชับผิว ลบริ้วรอย ขยายอก เป็นต้น หากผู้บริโภคไม่แน่ใจในผลิตภัณฑ์สุขภาพสามารถสอบถามมายัง อย. ที่สายด่วน 1556 หรือตรวจสอบผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่ www.fda.moph.go.th เพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!