หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV4


การเสนออุทยานธรณีขอนแก่นเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)

        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีขอนแก่นสมัครเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) หรือ UNESCO Global Geoparks โดยยื่นความจำนงต่อ UNESCO ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และส่งใบสมัครในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 รวมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการเสนออุทยานธรณีขอนแก่นเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของ UNESCO ต่อสำนักเลขาธิการ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

[ประเทศที่สนใจเข้ารับการสมัครเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของ UNESCO ต้องส่งจดหมายแสดงความจำนง (Letter of intent) ต่อสำนักเลขาธิการ UNESCO ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม และส่งเอกสารในการสมัครระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน ของทุกปี]

        สาระสำคัญของเรื่อง

        ทส. รายงานว่า

        1. อุทยานธรณีโลกของ UNESCO (UNESCO Global Geoparks) เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม โดยมีขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยาผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของ UNESCO มีจำนวนทั้งสิ้น 169 แห่ง ใน 44 ประเทศ (ข้อมูล เดือนเมษายน 2564) โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุทยานธรณีโลกของ UNESCO จำนวน 11 แห่ง ประกอบด้วย สหพันธรัฐมาเลเซีย 1 แห่ง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 3 แห่ง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 6 แห่ง และราชอาณาจักรไทย 1 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีโลกสตูล รวมทั้งมีอุทยานธรณีประเทศไทย จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีโคราช อุทยานธรณีผาชันสามพันโบก อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ และอุทยานธรณีขอนแก่น รวมทั้งมีอุทยานธรณีท้องถิ่น จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก อุทยานธรณีชัยภูมิ และอุทยานธรณีพุหางนาค

 

วิริยะ 720x100

QIC 720x100

 

        2. ทส. (กรมทรัพยากรธรณี) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดขอนแก่นจัดตั้งอุทยานธรณีโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง อุทยานแห่งชาติภูเวียง โรงเรียนพิพิธภัณฑ์ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมทรัพยากรธรณีในการจัดตั้งอุทยานธรณีขอนแก่นตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยกำหนดพื้นที่อุทยานธรณี จัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการจัดทำแผนบริหารจัดการ และดำเนินการตามแผนดังกล่าว เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา และการส่งเสริมชุมชนในด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นต้น มีการแต่งตั้งคณะทำงานในช่วงแรกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนเป็นรูปธรรม และจังหวัดขอนแก่นประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีขอนแก่น (Khonkaen Geopark) เป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 รวมทั้งได้ผ่านการประเมิน และได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีประเทศไทย (National Geopark) จากคณะกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและจัดตั้งอุทยานธรณี (ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563

        3. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณี (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน) ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีขอนแก่นเสนอเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของ UNESCO และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

        4. การจัดตั้งอุทยานธรณีขอนแก่นเป็นการบริหารจัดการโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและ ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งการกำหนดขอบเขตพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ ส่วนการกำกับดูแลพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ยังคงเป็นไปตามกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ .. 2562 พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ .. 2551 เป็นต้น โดยอุทยานธรณีขอนแก่น มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

รายละเอียด

ข้อมูลทั่วไป

 

อุทยานธรณีขอนแก่นครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูเวียงและอำเภอเวียงเก่า รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 1,038 ตารางกิโลเมตร

ความเหมาะสมในการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของ UNESCO

 

อุทยานธรณีขอนแก่นมีลักษณะทางธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ โดยในพื้นที่หุบเขาภูเวียงมีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกถึง 5 สายพันธุ์ ได้แก่ (1) สยามโมซอรัส สุธีธรนี (2) ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (3) สยามโมไท-รันนัสอีสานเอนซิส (4) กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส และ (5) ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ ซึ่งมีความสมบูรณ์และความหลากหลายของไดโนเสาร์ที่อยู่ร่วมกันเป็นอาณาจักรของไดโนเสาร์ นอกจากนี้

ยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ เช่น จระเข้ โกนิโอโฟรัส ภูเวียงเอนซิส ปลากลุ่ม Semionotidel ชั้นหอยกาบคู่กลุ่ม Exogyra ที่มีความยาวเกือบ 3 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

ความพร้อมของพื้นที่

 

อุทยานธรณีขอนแก่นมีศูนย์ประสานงานอุทยานธรณีขอนแก่นตั้งอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานกรรมการอำนวยการ อุทยานธรณีขอนแก่น และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้อำนวยการอุทยานธรณีขอนแก่น ทำหน้าที่บริหารและประสานงานอุทยานธรณีขอนแก่น ภายใต้วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น .. 2561 - 2564 (ฉบับทบทวน ปี 2562) ในการผลักดันอุทยานธรณีขอนแก่นสู่อุทยานธรณีโลกของ UNESCO ขณะนี้อุทยานธรณีขอนแก่นมีสถานะเป็นอุทยานธรณีประเทศไทย และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณีพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีขอนแก่นเสนอเข้ารับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของ UNESCO เนื่องจากมีความพร้อมในการเสนอเพื่อรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลกจาก UNESCO ทั้งในด้านวิชาการธรณีวิทยา ด้านศักยภาพ และองค์ประกอบตามที่ UNESCO กำหนด

ประโยชน์ของการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของ UNESCO

 

ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยว นำรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น ประชากรในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชากรในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืน เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

การเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของ UNESCO

 

อุทยานธรณีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จะต้องรับผิดชอบในการชำระเงินค่าสมาชิกปีละ 1,500 ยูโร หรือประมาณ 56,000 บาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการประเมินอุทยานธรณีขอนแก่นในภาคสนาม ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกและเครือข่ายอุทยานธรณีในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มิถุนายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A6656

 Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C J

aia 720 x100PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100

ais 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!