TIA ปลื้ม Class Action สัญจร ปั้นทนายอาชีพสู่ตลาดทุนเฉียดพันคน
สำเร็จ!! TIA ปิดฉากสัมมนาสัญจร ให้ความรู้ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม - Class Action 9 จังหวัด ร่วมสร้างทนายความอาชีพให้มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน เกือบ 1,000 คน หวังผลให้การบังคับใช้กฎหมาย Class Action มีประสิทธิภาพ ป้องกันนักลงทุน
นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล “ทำหน้าที่ สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อความยั่งยืน อยู่คู่ตลาดทุนไทยมากว่า 35 ปี เปิดเผยว่า TIA ร่วมมือ กับสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัด Class Action สัญจร 9 จังหวัด โดยการจัดสัมมนาครั้งสุดท้าย ที่จังหวัดอยุธยา เป็นพื้นที่สภาทนายความภาค1 ครอบคลุม 12 จังหวัด ยังคงได้รับความสนใจจากทนายความอาชีพเข้าร่วมอบรมอย่างมาก และผลของการจัดสัมนาทั้งหมด 9 จังหวัด ถือว่าประสบความสำเร็จ มีทนายความอาชีพเกือบ 1,000 คน เข้าร่วมอบรม เชิงลึก หลักการ เหตุผล และเงื่อนไข ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์
คุณสิริพร จังตระกูล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า ภารกิจการเพิ่มความรู้เรื่อง Class Action เพื่อสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายถูกนำมาใช้ทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสมาคมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีแรกคือปี 2565 ให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน ในพื้นที่จังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปี2566 ได้จัดหลักสูตรอบรมร่วมกับศาลยุติธรรม ซึ่งมีทนายความอาชีพผ่านหลักสูตรและขึ้นทะเบียนกับสมาคม 89 คน
สำหรับปี 2567 เดินสายจัดสัญจร Class Action 9 จังหวัด ในช่วงเวลา 7 เดือน หรือหากเทียบกับระยะเวลาในการเดินทางจาก กทม. คิดเป็นระยะทางรวม 4,883 กิโลเมตร มีทนายความอาชีพที่เข้าร่วมสัมมนาและสอบวัดผลผ่าน 730 คนคิดเป็น 77% ซึ่งได้รับวุฒิบัตรใช้เป็นใบเบิกทางเข้าสู่ทนายความอาชีพที่ผ่านการอบรมความรู้คดี Class Action เพื่อเป็นเครื่องมือปกป้อง ดูแลนักลงทุนและสร้างความยุติธรรมในตลาดทุนไทย
นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการ สภานายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดี ที่ทนายความ ได้เข้ามามีส่วนร่วม สร้างความยุติธรรมในตลาดทุน ซึ่งทนายต้องปรับตัวและเพิ่มความรู้ การที่สภาทนายความ ได้ร่วมกับ TIA เติมความรู้ ในมิติข้อกฎหมายด้านตลาดทุน ถือเป็นการยกระดับวิชาชีพของทนาย ในการทำหน้าที่ร่วมกันสร้างความยุติธรรมในตลาดทุน
ท่านพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า ต้องขอบคุณสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ที่จัดสัมมนาให้ความรู้ และเห็นความสำคัญ กับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้และผมเองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การทำวิจัย รวมถึง การสัญจรทั้ง 9 ครั้ง โดยครั้งที่ 9 ในภาค 1 ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญ ที่จะร่วมกันสร้าง และผลักดันให้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีประสิทธิภาพ และขั้นต่อไปก็จะต้องให้ความรู้กับผู้พิพากษาด้วยเพื่อผลักดันให้ Class Action มีประสิทธิภาพ
“การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นกฎหมายสารบัญญัติ และเป็นวิธีพิจารณาแบบแพ่ง จำเป็นต้องรู้รูปแบบในการดำเนินคดี และบทบาทของ กฎหมาย Class Action จะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งประเทศไทยเรามีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นการที่ TIA จัดโครงการอบรมถือเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์มาก เพราะดูแลคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยได้ และในสหรัฐอเมริกา หากบริษัทไหน ถูกฟ้องด้วยคดี Class Action จะกลัวเพราะราคาหุ้นจะตก จะกระทบต่อความมั่งคั่ง ดังนั้นจะต้องร่วมกันให้การบังคัญใช้กฎหมายเกิดขึ้น และช่วยดูแลนักลงทุนที่จะได้รวมตัวกันให้มีพลังในการต่อสู้กับคนที่จ้องเอาเปรียบ”
อย่างไรก็ตามคดีที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือ สิทธิผู้บริโภค,หลักทรัพย์และการแข่งขันทางการค้า, สิ่งแวดล้อม, คดีละเมิดที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และสิทธิพลเมือง เป็นต้น
“นับตั้งแต่เริ่มที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มขอแนะนำให้ทำรายละเอียดทั้งหมดของกลุ่มบุคคลที่เข้ามา และทำรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำคดีทั้งหมด เพราะ เมื่อถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ประเด็นเหล่านี้ก็ต้องพร้อมที่จะเปิดเพื่อการพิจารณา เพราะตามกฎหมายนั้นผลตอบแทนของคดีที่จะได้รับ 30% ของมูลฟ้องนั้นทนายความจะต้องถูกนำมาพิจารณาทั้งหมด”
ท่านสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ช่วยทำงานในตำแหน่งรองอธิบดี ผู้พิพากษา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง กล่าวว่า คดีหลักทรัพย์ มีความหลากหลายบางเรื่องนำมาทำคดีแบบกลุ่มไม่ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสียหาย เช่น กรณีที่ผู้บริหารทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัท เป็นต้น
นอกจากนี้คดีเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุนในคริปโท แบบไม่ได้รับอนุญาตก็สามารถเข้ามาสู่การดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ ซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาแล้ว
อย่างไรก็ตามอีกประเด็นที่สำคัญ ผู้ที่จะเป็นโจทก์และเป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องเก็บเอกสารที่เกิดขึ้นในคำสั่งซื้อขายไว้เป็นหลักฐานด้วย
นอกจากนี้การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีประโยชน์โดยรวมมาก เพราะเป็นการดำเนินการครั้งเดียวแต่คำพิพากษาจะครอบคลุมทั้งหมด ทั้งผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกกลุ่มและไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม บนสิทธิ และข้อเท็จจริงเหมือนกัน ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน รวมทั้งมีระยะเวลาที่เร็วกว่าและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการดำเนินคดีตามขบวนการตามปกติ
อย่างไรก็ตามการดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีหลักทรัพย์การแบ่งกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญมากในการคำคดี ซึ่งในกรณีซื้อขายหลักทรัพย์จะแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่เข้าซื้อหุ้น และยังคงถือหุ้นอยู่เต็มจำนวนที่ซื้อ 2. คนที่เข้าซื้อก่อนและระหว่างทางมีการขายออกแต่ไม่ได้ขายทั้งหมดและยังมีหุ้นถืออยู่ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความยากในการคิดและประเมินมูลค่า และ 3. ขายหุ้นออกทั้งหมดแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่เข้าลงทุนหุ้นที่มีปัญหาซึ่งกลุ่มนี้จะมีการจัดการเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
10215