กรมพัฒน์ จับมือสยามพิวรรธน์ ยกระดับสินค้าชุมชน เปิดทางนำขายใน ICONCRAFT
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือ สยามพิวรรธน์ เดินหน้ายกระดับสินค้าชุมชนของไทย เน้นการนำ Soft Power ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา มาผสมผสาน และสร้างจุดขายให้กับสินค้า เพื่อสร้างความโดดเด่น ตั้งเป้าค้นหา 50 ราย นำมาจัดแสดงและจำหน่ายใน ICONCRAFT
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมและบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด โดย ICONCRAFT ได้ร่วมกันหารือแนวทางการส่งเสริมในการยกระดับสินค้าชุมชนของไทย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนำ Soft Power อาทิ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา มาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่าง
โดยการเล่าเรื่องราวผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม การสร้างสรรค์สื่อการตลาดที่น่าสนใจ และการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและชุมชน ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและผลักดันสินค้าชุมชนของไทยให้เป็นที่รู้จัก และเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งผลักดันให้เป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศ
โดยแผนการทำงานในปี 2568 กรม และ ICONCRAFT ได้วางแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ผ่านโครงการ Smart Local ME-D เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่าน Soft Power ชูจุดขายสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดความสำเร็จจากปี 2567
โดยใช้ต้นแบบเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ‘พะ-มหา-นคร’ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2567 ซึ่งในปีนี้ ได้ตั้งเป้าผลักดัน SME งานหัตถศิลป์ไทยรุ่นใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ราย มาร่วมการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน ICONCRAFT
ทั้งนี้ เส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน `พะ-มหา-นคร` เป็นการรวบรวมผลิตภัณฑ์จาก 3 ภูมิภาค ได้แก่ 1.พะเยา มีดี เน้นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและภูมิปัญญาจากชาวเขา 2.มหาสารคาม มีดี เน้นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและอาหารพื้นเมือง และ 3.นครศรีธรรมราช มีดี เน้นผลิตภัณฑ์จากทะเลและวัฒนธรรมท้องถิ่น
เพื่อสร้างจุดแข็งและขยายตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไปสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้าง Brand ผ่าน Storytelling บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้าน คือ การสร้างแบรนด์ การเล่าเรื่องผ่านผลิตภัณฑ์ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการเจรจาธุรกิจ
สำหรับ การช่วยขยายช่องทางการตลาด กรมมีแผนจัดงานแสดงสินค้าในครึ่งปีแรก จำนวน 3 งาน คือ 1.เทศกาล Food Truck ระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค. 2.งาน ICONIC CRAFT COFFEE FEST เดือน เม.ย. 3.งาน SPA EVENT เดือน มิ.ย. เพื่อเปิดโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ กรมในฐานะคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร จะเดินหน้าเชิงรุกด้วยแนวคิด THINK Wellness Think Thai Herb ชูจุดเด่นผลิตภัณฑ์สมุนไพรควบคู่กับอาหารและเครื่องดื่มของไทย และผลิตภัณฑ์สปา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์สปา เป็นสินค้าที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าใน ICONCRAFT
ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจ SME จดทะเบียนธุรกิจอย่างถูกต้อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีระบบ สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.-28 ก.พ.2568 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขาย
โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการธุรกิจ SME รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบการสตรีที่มีบทบาทสำคัญในงานศิลปหัตถกรรมชุมชน ห้างท้องถิ่น และเครือข่าย MOC Biz Club ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่
โครงการ Smart Local ME-D เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยช่วยให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและประเทศชาติต่อไป