น้ำมัน อาหาร-เครื่องดื่มขึ้น ดันเงินเฟ้อ ธ.ค.67 เพิ่ม 1.23% ทั้งปี 67 โตตามเป้า 0.4%
พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.67 เพิ่มขึ้น 1.23% จากราคาน้ำมัน หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เป็นบวกต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน ส่วนยอดรวมทั้งปี 2567 เพิ่ม 0.4% อยู่ในเป้าที่คาดไว้ ส่วนปี 2568 ตั้งเป้า 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8% แต่มีแนวโน้มเงินเฟ้อทรงตัวสูงบวกลบ 1% ตลอดทั้งปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การลงทุน การบริโภค และท่องเที่ยว
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค.2567 เท่ากับ 108.28 เทียบกับ พ.ย.2567 ลดลง 0.18% เทียบกับเดือน ธ.ค.2566 เพิ่มขึ้น 1.23% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฐานปีก่อนราคาต่ำ
รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5%
สำหรับ รายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.2567 ที่สูงขึ้น 1.23% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.28% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ กลุ่มผลไม้สด (เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า ทุเรียน แตงโม สับปะรด กล้วยหอม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ)
กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า) และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล กุ้งขาว ปลาทูนึ่ง ปลาทับทิม) ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (พริกสด มะเขือเทศ มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี) ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่ย่าง นมเปรี้ยว น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 1.21% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และยังมีค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาซักแห้ง น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษและสตรี) เป็นต้น
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ธ.ค.2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2567 และเพิ่มขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2566 เฉลี่ยทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 0.56%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ม.ค.2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.25% และไตรมาส 1 ปี 2568 เฉลี่ยจะสูงกว่า 1% ส่วนไตรมาส 2 และ 3 จะลดลงไม่น่าถึง 1% จากนั้นจะกลับมาสูงขึ้นในระดับ 1% ขึ้นไปในไตรมาสที่ 4 รวมเงินเฟ้อทั้งปี 2568 จะอยู่ระหว่าง 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8% โดยมีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.3-3.3% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
และยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 2567
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่จะฉุดให้เงินเฟ้อลดลง อาทิ ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก
และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ ส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงหรือต่ำ จากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนนโยบายส่งออกสินค้าเกษตรของผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เบื้องต้นไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ
ดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนธันวาคม 2567 🛒🛍️📊💰
. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 106.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
.
📊 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.95 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 19 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บูรไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
📊 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยทั้งปี 2567 เทียบกับปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (AoA) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.00 (YoY) ขณะที่ ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.26 (QoQ)
.📊 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.3 – 1.3 (ค่ากลางร้อยละ
0. 😎 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย
1 - เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2 - ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
.
📊 ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย
1 - ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG
2 - ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก
3 - การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
#สนค #สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า #TPSO #กระทรวงพาณิชย์ #MOCThailand #MOC #ข่าวเศรษฐกิจ
💾 ข้อมูลฉบับเต็ม: ในคอมเมนต์ด้านล่าง
🙏 ขอขอบคุณข้อมูล: กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า (ดศ.)
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจการค้าก่อนใครที่
📌 LINE: @TPSO.tradeinsights
📌 Website : tpso.go.th