SME D Bank ลุยหนุนเอสเอ็มอีกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์คว้าโอกาสโตตามเทรนด์โลก พาก้าวข้ามข้อจำกัดผลักดันถึงแหล่งทุน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย
SME D Bank เดินหน้านโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง สร้างโอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ก้าวข้ามข้อจำกัด เข้าถึงแหล่งทุน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ควบคู่เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน พัฒนา Ecosystem สร้างกลไกเชื่อมโยง เติบโตตามเทรนด์ตลาดโลก ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย
นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank โดย “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.” ศึกษาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์สำคัญต่อการส่งเสริมคุณค่าซอฟต์พาวเวอร์ของไทยผ่านการถ่ายทอดเนื้อหาและสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก ซึ่งผลการศึกษาเชิงลึกจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ประกอบด้วย 4 ประเภทอุตสาหกรรมย่อย ได้แก่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ พบว่า ผู้ประกอบการไทย เผชิญ 2 ข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้เสียโอกาสในการเติบโตตามแนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์โลก ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 14% ต่อปี ในขณะที่ของไทยมีโอกาสเติบโต 4-5% ต่อปี
ทั้งนี้ ข้อจำกัด 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อให้เกิด Ecosystem สนับสนุนสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างเป็นระบบครบวงจร ประกอบด้วย 1) การสร้างบุคลากรที่มีทักษะทั้งด้านการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และทักษะด้านการเงินและการตลาด 2) สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตให้เพียงพอและเหมาะสมกับผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ขาดเงินลงทุนในทรัพยากรและเทคโนโลยี 3) สนับสนุนขยายตลาดไปยังต่างประเทศในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงตรงกับลักษณะของคอนเทนต์ รวมถึงสนับสนุนการเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นใน Supply Chain เช่น ใช้คาแรกเตอร์จากผู้ผลิตไทยเป็นองค์ประกอบในสินค้าทางวัฒนธรรมของไทย 4) ออกกฎระเบียบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติการสร้างทรัพย์สินทางปัญหาที่เหมาะกับบริบทของผู้ประกอบการรายเล็ก
ประเด็นที่ 2 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ด้วยข้อจำกัดของรูปแบบการประกอบธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ที่แตกต่างจากสินค้าหรือบริการทั่วไปซึ่งจับต้องสินค้าได้ยาก การทำความเข้าใจโอกาสสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการประเมินได้ยาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนประเภทสินเชื่อได้ ประกอบกับสินทรัพย์หลักในกิจการอยู่ในรูปของสินทรัพย์ทางปัญญาซึ่งประเมินค่าได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องใช้หลักทรัพย์ส่วนตัวเป็นหลักประกันสินเชื่อ ส่วนแหล่งเงินทุนประเภท Venture Capital ยังเข้าถึงได้ยาก นอกจากนั้น ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ผลงานอาจไม่อยู่ในกระแสของตลาด แม้จะเป็นผลงานที่ดีมีความสร้างสรรค์ใหม่ แต่อาจเข้าไม่ถึงแหล่งทุนหรือได้รับแต่ไม่มากพอ ขณะที่เงินอุดหนุนจากภาครัฐ (Crowd Funding) มีจำกัดที่จะจัดสรรอุดหนุนได้ทั่วถึง
นายพิชิต กล่าวว่า SME D Bank ตระหนักดีถึงข้อจำกัดและความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขาดหลักประกันส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ธนาคารจึงพร้อมพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควบคู่การประเมินด้วยความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของธุรกิจประเภทนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มอบให้ SME D Bank เป็นสถาบันการเงินรัฐที่สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึง ใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) มาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี
ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้” ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน บสย. ค้ำประกันเต็มจำนวน ดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถกู้ได้และสามารถนับรวมประสบการณ์ผู้บริหารได้ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 6.4%ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย นอกจากนี้ SME D Bank พร้อมเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงความต้องการและข้อเสนอของผู้ประกอบการไปยังหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนา Ecosystem ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างกลไกสำคัญขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตต่อไป
นอกจากนั้น ธนาคารยังมีสินเชื่อตามนโยบายภาครัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 3%ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน ในโครงการสินเชื่อ “ปลุกพลัง SME” สำหรับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีรายเล็กที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท นำไปใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึงหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ เช่น ร้านโชห่วย/ขายปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจดิจิทัล/อิเล็กทรอนิกส์ ร้านขายยา และแฟรนไชส์รายย่อย เป็นต้น และ สินเชื่อ “Beyond ติดปีก SME” สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เช่น เกษตรแปรรูป อาหารเพื่อสุขภาพ โรงแรมที่พัก/ร้านอาหารขนาดใหญ่ ธุรกิจนำเข้าติดตั้งเครื่องจักร ธุรกิจบริการดิจิทัล/อิเล็กทอรนิกส์ แฟรนไชส์ เป็นต้น
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถแจ้งความประสงค์รับบริการได้ ณ สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น LINE Official Account : SME Development Bank และเว็บไซต์ www.smebank.co.th เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357
2274