TPCH เปิดผลงานปี 67 รายได้รวมแตะ 2,444.69 ลบ. บอร์ดเคาะจ่ายปันผลเพิ่มอีก 0.037 บ./หุ้น ลุยโปรเจคใหม่ทั้งใน-ตปท. หนุนผลงานปี 68 โตตามแผน
บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดผลงานปี 67 มีรายได้รวม 2,444.69 ล้านบาท กำไรสุทธิ 234.30 ล้านบาท อานิสงส์รับรู้รายได้โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล-เชื้อเพลิงขยะ 8 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตรวม 90.2 เมกะวัตต์ บอร์ดเปย์หนัก อนุมัติจ่ายปันผลเป็นเงินสดเพิ่มอีก 0.037 บาท/หุ้น รวมจ่ายทั้งปี 0.395 บาท/หุ้น ขึ้น XD วันที่ 29 เมษายน 2568 ฟากบิ๊กบอส ‘กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี’ ระบุ บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนวินด์ฟาร์มในกัมพูชา กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ พร้อมเร่งก่อสร้างโครงการพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หวังดันรายได้ปี 68 โตตามแผน
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567) มีรายได้รวมเท่ากับ 2,444.69 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 234.30 ล้านบาท
“ผลงานในปี 67 บริษัทฯ ดำเนินการในการบริหารธุรกิจให้เป็นไปตามแผนงาน และยังสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้ง 8 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 90.2 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ นนทบุรี (SPNT) จำนวน 1 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ รวมทั้ง การบริหารต้นทุนได้ตามแผนที่วางไว้” นางกนกทิพย์กล่าว
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดเพิ่มอีก ในอัตราหุ้นละ 0.037 บาท โดยวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 29 เมษายน 2568 กำหนดวันที่จ่ายปันผล 15 พฤษภาคม 2568 ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วในปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.230 บาท เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 และในอัตราหุ้นละ 0.128 บาท เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 รวมเป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 158.47 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนโครงการพลังงานลมในสัดส่วนร้อยละ 40 ในนามบริษัท อินโดไชน่า วินด์ พาวเวอร์ จํากัด (IWP) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศกัมพูชา โดยบริษัทฯ จ่ายเงินลงทุนไปแล้วจำนวน 13.79 ล้านบาท IWP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 150 เมกะวัตต์ กับ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้ากัมพูชา (EDC) แล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 โดยมีระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ และคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทฯ มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรได้ภายในไตรมาส 2/2568 ขณะที่ มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพิ่มประมาณ 4 โครงการ ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการพลังงานขยะชุมชนในรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ มีการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ซึ่ง TPCH เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% มูลค่า 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2568 โดยมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 29.3 เมกะวัตต์ และยังคงเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ กำลังการผลิตรวม 150 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการในต่างประเทศ กำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์ เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
“ปี 2568 TPCH มุ่งพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการด้าน ESG จะนำข้อมูลการเก็บ Carbon Footprint ที่ได้จากปีที่ผ่านมา ปรับปรุงและพัฒนานโยบายการลดการปล่อยคาร์บอนในองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน และมั่นใจว่า คาร์บอนเครดิตจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทฯ ได้ในอนาคต” นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด
2296