AUCT รายงานผลประกอบการปี 67 รายได้แตะ 1,303 ล้านกำไรพุ่ง 371 ล้าน ยืนยันปี 68 ยังมีปัจจัยหนุนควบคู่ปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT รายงานผลการดำเนินปี 2567 เผยมีรายได้จากการให้บริการ 1,290.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.96 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 โดยมีรายได้จากการประมูล 1,094.93 ล้านบาท รายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริม 195.32 ล้านบาท ส่งผลมีกำไรสุทธิเท่ากับ 371.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.36 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 6.7
นายวรัญญู ศิลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ (AUCT) เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 317.55 ล้านบาท ลดลง 11.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการประมูลเท่ากับ 270.90 ล้านบาท ลดลง 9.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 7.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนรายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริมในไตรมาส 4/2567 เท่ากับ 46.65 ล้านบาท ลดลง 1.95 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.16 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากจำนวนรถที่เข้าสู่ลานประมูลและรถที่จบประมูลเริ่มชะลอตัวลงในช่วงปลายของไตรมาส 4/2567
สำหรับผลประกอบการปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 1,290.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.96 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้จากการประมูลเท่ากับ 1,094.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.70 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีรายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริมเท่ากับ 195.32 ล้านบาท ลดลง 1.74 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถเข้าประมูลและรถจบประมูลในภาพรวมทั้งปี ส่งผลให้ปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 371.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามปริมาณรถจบประมูลที่เพิ่มขึ้น
นายสุธี สมาธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มของธุรกิจว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ทั้งการแจกเงินหมื่นให้ผู้สูงอายุ การช่วยเหลือชาวนาไร่ละหนึ่งพันบาท Easy E-Receipt และมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ตลอดจนการคงนโยบายอัตราดอกเบี้ย และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2567 ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในอนาคตได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง และเศรษฐกิจไทยที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังฟื้นตัวช้า
นอกจากนี้แล้ว การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มงวด สอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของยอดจัดสินเชื่อรถยนต์ใหม่ เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ใหม่ปี 2567 ที่ลดลงร้อยละ 26.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แสดงถึงความต้องการใช้เงินสดหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือเพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ยังมีปริมาณรถไหลเข้าสู่ธุรกิจประมูลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปี 2568 ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตามสถานการณ์ควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิด โดยบริษัทฯ ยังคงแผนการเพิ่มคู่ค้าทางธุรกิจทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่างสม่ำเสมอ
2277