ก.ล.ต. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้การจัดประเภทผู้ลงทุนในการติดต่อและรับบริการมีความชัดเจนขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้นิยามผู้ลงทุนด้านการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (สัญญาฯ) สอดคล้องกันและสามารถให้บริการและปฏิบัติต่อผู้ลงทุนแต่ละประเภทได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ตามที่ ก.ล.ต. มีแนวคิดในการปรับปรุงนิยามผู้ลงทุน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ (ผู้ประกอบธุรกิจ) ในการจัดประเภทและให้บริการผู้ลงทุนด้วยนิยามผู้ลงทุนที่แตกต่างกันในหลักเกณฑ์บางเรื่อง และสามารถให้บริการและปฏิบัติต่อผู้ลงทุนแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ร่วมแสดงความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว
ก.ล.ต. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) กรณีการประกอบธุรกิจในภาพรวม: ปรับปรุงนิยามผู้ลงทุนสถาบันให้เป็นนิติบุคคลเท่านั้นเนื่องจากเป็นผู้ลงทุนที่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง เพื่อให้สอดคล้องกันทั้งด้านการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาฯ รวมทั้งการให้บริการผลิตภัณฑ์ในประเทศและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
(2) กรณีการให้บริการพาลูกค้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ: ปรับปรุงให้ใช้นิยามผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth: UHNW) เพื่อให้สอดคล้องกับนิยามผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษในหลักเกณฑ์เรื่องอื่นๆ แทนการใช้นิยาม Qualified Investor (QI) ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบัน ธปท. ยกเลิกนิยามดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์กรณีพาผู้ลงทุนทั่วไปไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ (ศูนย์ซื้อขาย) โดยศูนย์ซื้อขายดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ IOSCO ซึ่งเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) (IOSCO MMOU) หรือเป็นศูนย์ซื้อขายที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE)
เมื่อหลักเกณฑ์ใหม่มีผลใช้บังคับ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดประเภทผู้ลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่เมื่อถึงรอบการทบทวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Client: KYC) ครั้งถัดไปของผู้ลงทุน หรือเมื่อผู้ลงทุนประสงค์จะซื้อหลักทรัพย์หรือสัญญาฯ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว* มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
________________________
หมายเหตุ:
* ประกาศที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 7/2568 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 (https://publish.sec.or.th/nrs/10630p_r.pdf)
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 8/2568 เรื่อง การให้บริการแก่ลูกค้าในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 (https://publish.sec.or.th/nrs/10632p_r.pdf)
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 2/2568 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 (https://publish.sec.or.th/nrs/10633p_r.pdf)
2283