ร่างกฎกระทรวงสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... สถานที่ใช้ ก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ ลักษณะของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติลักษณะของถังในการบรรจุก๊าซธรรมชาติและ การบำรุงรักษาดังกล่าว วิธีการปฏิบัติงานและการจัดให้มีและการบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดภายในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหายหรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ
2. ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรฐานความปลอดภัยของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่กรมธุรกิจพลังงานรับผิดชอบ พ.ศ. 2550 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้บังคับเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเฉพาะที่นำก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ในสถานะไอก๊าซมาเป็นเชื้อเพลิง แต่ประกาศดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลสถานที่ ใช้ก๊าซธรรมชาติที่นำก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas - LNG) มาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงอย่างแพร่หลายภายในโรงงานอุตสาหกรรม
3. พน. โดยกรมธุรกิจพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานความปลอดภัยของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้มีความชัดเจนและครอบคลุมทั้งก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ในสถานะไอก๊าซและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงประกอบกับในเรื่องดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่นำก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 สถานะมาเป็นเชื้อเพลิง (ซึ่งเป็นการควบคุมประเภทที่ 3 โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการขอรับใบอนุญาตก่อนเริ่มประกอบกิจการ ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) จึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... โดยได้ปรับปรุงจากร่างประกาศกระทรวงพลังงานฯ ตามข้อ 2 ให้สามารถกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมถึง LNG ด้วย ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น การออกแบบสร้าง ติดตั้ง การทดสอบและตรวจสอบ การป้องกันและระงับอัคคีภัย ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการเลิกประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล เพื่อป้องกันและระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหาย หรืออันตรายที่มีผลกระทบจากการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตลอดจนสอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1) กำหนดบทนิยามที่สำคัญ (ร่างฯ ข้อ2) |
● “ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมที่ประกอบด้วยมีเทนเป็นส่วนใหญ่ ● “ก๊าซธรรมชาติเหลว” หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในสถานะของเหลว (LNG) ● “สถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า สถานที่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือใบอนุญาต ให้ใช้เป็นสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งก่อสร้าง ถัง ท่อ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ● “เขตสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า เขตที่แสดงถึงบริเวณที่ตั้งของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ พื้นที่กักเก็บธรรมชาติ ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ สถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติและหรืออุปกรณ์เครื่องมือตลอดจนระบบไฟฟ้า และ/หรือระบบความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ก๊าซธรรมชาติตามที่กำหนดในแผนผังบริเวณของสถานีใช้ก๊าซธรรมชาติ ● “ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ● “ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว” หมายความว่า ถังหรือภาชนะที่ใช้บรรจุ ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในสถานะของเหลว ● “ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติตามกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้มีความหมายตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียม เกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง ● “พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว” หมายความว่า พื้นที่ภายในเขื่อน กำแพง หรือบ่อกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว ที่ล้อมรอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติและเครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ ● “สถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า สถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติที่อยู่ภายในเขตสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยระบบท่อหรืออุปกรณ์ เครื่องมือ ตลอดจนระบบไฟฟ้าและระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นบริเวณที่ท่อก๊าซธรรมชาติจากภายนอกเขตสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผ่านเข้าเท่านั้น ● “ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ |
|
2) กำหนดมาตรฐานการออกแบบการทดสอบและตรวจสอบของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (หมวด 1 บททั่วไป ร่างฯ ข้อ 3 - 6) |
● กำหนดให้การออกแบบสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และระบบไฟฟ้ารวมถึงการทดสอบและตรวจสอบ ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติต้องดำเนินการออกแบบโดยวิศวกร ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม รวมถึงการทดสอบและตรวจสอบต้องดำเนินการโดยผู้ทดสอบและตรวจสอบ ● กำหนดให้สถานที่ตั้งของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติต้องได้รับอนุญาตและไม่ขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายว่าด้วยผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยโรงงานรวมถึงการใช้ก๊าซธรรมชาติจะต้องไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยข้างเคียงและไม่เกิดมลพิษตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ● กำหนดให้ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 สำหรับถังขนส่งก๊าซธรรมชาติด้วย |
|
3) กำหนดองค์ประกอบหรือลักษณะของแผนผังและแบบก่อสร้างสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและอื่นๆ (หมวด 2 ลักษณะแผนผังและแบบก่อสร้าง ร่างฯ ข้อ7 - 15) |
● กำหนดให้ต้องมีแผนผังโดยสังเขปของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและจำนวนรายละเอียดขั้นต่ำของแผนผัง เช่น 1) แผนผังแสดงตำแหน่งที่ตั้งและแนวท่อของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 2) แบบแสดงรายละเอียดท่อและอุปกรณ์ 3) แบบก่อสร้างแนวท่อใต้ดินของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย เช่น แนวท่อและระดับของแนวท่อ ตำแหน่งที่ตั้งของแนวท่อทุกระยะการเปลี่ยนแปลงแนวท่อ รวมถึงขนาด ความยาว ความหนาของท่อและวัสดุที่ใช้ทำท่อ และ 4) แผนภาพสามมิติ (isomeric diagram) ของระบบท่อและอุปกรณ์ก๊าซที่มีการติดตั้งในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งภายในสถานีควบคุม ● กำหนดรายละเอียดขั้นต่ำของแบบการก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น แบบของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวกับระบบท่อก๊าซธรรมชาติ แบบของอาคารสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว กำแพงกักไฟหรือผนังกันไฟแบบโครงสร้างรองรับระบบท่อ และแบบระบบไฟฟ้า เป็นต้น |
|
4) กำหนดที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัยของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (หมวด 3 ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัย ร่างฯ ข้อ 16 - 17) |
● กำหนดให้สถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ ที่ตั้ง ลักษณะ และระยะปลอดภัย (Safety distance) ดังนี้ - ตำแหน่งที่มีโอกาสรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติ ต้องมีระยะปลอดภัยจากเขตดิน หรือเขตสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและริมผนังอาคาร ดังนี้ 1) ตำแหน่งที่มีความดันก๊าซธรรมชาติไม่เกิน 1,900 กิโลปาสคาล (275 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว) ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 3 เมตร 2) ตำแหน่งที่ความดันก๊าซธรรมชาติเกิน 1,900 กิโลปาสคาล (275 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว) ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 7.5 เมตร - ตำแหน่งที่มีโอกาสรั่วไหลขอก๊าซธรรมชาติต้องอยู่ห่างจากผนังถังเก็บน้ำมัน ผนังถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียม ผนังถังเก็บวัสดุติดไฟ หรือบริเวณที่ก่อให้เกิดประกายไฟได้ง่ายไม่น้อยกว่า 7.5 เมตร - กำหนดให้ในด้านของสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติที่ยานพาหนะสามารถเข้าถึงได้ต้องจัดให้มีเสากันภัยที่มีความแข็งแรงทุกระยะ 1.5 เมตร หรือ ราวเหล็ก (guard rail) ตลอดแนวของสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติในด้านดังกล่าว |
|
5) กำหนดการออกแบบ ก่อสร้างและติดตั้งสำหรับระบบภายในของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (หมวด 4 การออกแบบ ก่อสร้างและติดตั้ง ภายในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ร่างฯ ข้อ 18 - 22) |
● กำหนดให้การออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้ง ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องภายในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ● กำหนดให้การติดตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบก๊าซธรรมชาติ เครื่องทำไอก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องดำเนินการติดตั้งบนโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ตามหลักการทางวิศวกรรม รวมถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ● กำหนดให้การออกแบบอาคารคลุมสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ อาคารคลุมถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในสถานะก๊าซ หรือถังขนส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในสถานะก๊าซและอาคารคลุมเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ ต้องดำเนินการให้หลังคา ฝาหรือผนัง ต้องทำด้วยวัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นเชื้อเพลิง และต้องออกแบบให้มีการแพร่กระจายของก๊าซธรรมชาติได้สะดวก |
|
6) กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (หมวด 5 อุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าและหมวด 6 การทดสอบและตรวจสอบ ร่าง ข้อ 23 และ 24) |
● การกำหนดบริเวณอันตรายของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ การออกแบบ ติดตั้ง ระบบไฟฟ้า รวมถึงระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ● การทดสอบและตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ พื้นที่กักเก็บก๊าซธรรมชาติ อุปกรณ์และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด |
|
7) กำหนดมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมถึงมาตรการควบคุมของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (หมวด 7 การป้องกันและระงับอัคคีภัย และหมวด 8 การควบคุม ร่างฯ ข้อ 25 - 36) |
● กำหนดให้สถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติต้องมีเครื่องดับเพลิงในแต่ละตำแหน่งและจำนวน ดังนี้ เช่น 1) บริเวณที่ตั้งสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติอย่างน้อย 2 เครื่อง 2) บริเวณที่ตั้งเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติอย่างน้อย 1 เครื่อง ต่อเครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติ 1 เครื่อง และ 3) บริเวณจุดรับก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างน้อย 2 เครื่อง ต่อจุดรับก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นต้น และกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงดังกล่าวทุก 6 เดือน เป็นอย่างน้อย ● กำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการมีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดเปลวไฟหรือประกายไฟ รวมถึงต้องจัดให้มีป้ายข้อความหรือเครื่องหมายในบริเวณต่างๆ ของสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ให้มองเห็นได้ง่าย และชัดเจน เช่น “ห้ามสูบบุหรี่” “ห้ามก่อประกายไฟ” และ “ก๊าซไวไฟ” ● กำหนดให้มีเครื่องส่งเสียงดังเมื่อมีก๊าซรั่วภายในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และกำหนดให้ต้องมีระบบปิดฉุกเฉินเพื่อปิดหรือตัดการจ่ายสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงกำหนดให้ต้องมีเครื่องตรวจจับการเกิดไฟพร้อมสัญญาณเตือนภัย ● กำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการต้องจัดให้มีป้ายแสดงขั้นตอนการรับหรือจ่ายก๊าซธรรมชาติจากถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ |
|
8) กำหนดวิธีการเลิกประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (หมวด 9 การเลิกประกอบกิจการสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ร่างฯ ข้อ 37) |
● กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นเรื่องขอยกเลิกประกอบกิจการ และส่งผลการทดสอบและตรวจสอบ เช่น ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ และอุปกรณ์หรือระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ โดยอย่างน้อยต้องระบบได้ว่าถังและระบบต่างๆ ไม่มีก๊าซธรรมชาติค้างอยู่ พร้อมทั้งให้ยื่นเรื่องการแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการและส่งต้นฉบับใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน |
|
9) กำหนดบทเฉพาะกาล (หมวด 10 บทเฉพาะกาล ร่างฯ ข้อ 38 - 41) |
● กำหนดให้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 สำหรับสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันที่ร่างกฎกระทรวงสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติเว้นไม่ต้องปฏิบัติร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เว้นแต่ในกรณี ดังต่อไปนี้ เข่น 1) การรับ จ่าย และใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการควบคุมดูแลระบบที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ ต้องดำเนินการโดยผู้ปฏิบัติงานสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 2) ถังขนส่งก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 สำหรับถังขนส่งก๊าซธรรมชาติด้วย และ 3) การห้ามเก็บวัตถุไวไฟหรือห้ามอยู่อาศัยภายในอาคารคลุมสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ อาคารคลุมถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ โดยต้องดำเนินการให้ถูกต้องนับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลบังคับใช้ แต่ในบางกรณีให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ เช่น 1) การจัดให้มีเครื่องดับเพลิงภายในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในบริเวณต่างๆ 2) การติดตั้งระบบดับเพลิงด้วยน้ำภายในสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว และ 3) การจัดให้มีป้ายแสดงขั้นตอนในการรับหรือจ่ายก๊าซธรรมชาติจากถังขนส่งก๊าซธรรมชาติ |
|
10) กำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ |
● กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา |
ทั้งนี้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถูกจัดให้เป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535พน. จึงได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมความปลอดภัยของก๊าซธรรมชาติภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535ประกอบกับมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ในกรณีที่มีกฎหมายว่าด้วยการใดบัญญัติเรื่องใดไว้โดยเฉพาะแล้วให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติควบคุมน้ำนั้นซื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ที่มีผลใช้บังคับได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “น้ำมันเชื้อเพลิง” ให้หมายรวมถึงก๊าซธรรมชาติด้วย ดังนั้น กฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ (หมายความว่า เมื่อร่างกฎกระทรวงที่ พน. เสนอมีผลใช้บังคับแล้ว จะนำมาใช้แทนประกาศกระทรวงพลังงานตามข้อ 2 ที่ใช้กำกับดูแลสถานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่เดิม โดยไม่มีผลเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพลังงานดังกล่าวแต่อย่างใด) ประกอบกับ พน. อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยของก๊าซธรรมชาติ และเมื่อ พน. ดำเนินการออกกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จ จะได้มีการแก้ไขคำนิยามตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ และจะได้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมความปลอดภัยของก๊าซธรรมชาติภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 7 มกราคม 2568
1083