การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (โครงการ) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดังนี้
รายละเอียด |
มติคณะรัฐมนตรี (26 กุมภาพันธ์ 2562) |
คค. เสนอในครั้งนี้ |
กรอบวงเงิน |
6,570.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) |
6,473.98 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) (ลดลง 96.42 ล้านบาท) |
ระยะเวลาโครงการ |
5 ปี |
4 ปี |
โดยให้ รฟท. ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด
2. อนุมัติรายละเอียดอื่นที่มิได้มีการเปลี่ยนแปลง ให้ยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 กุมภาพันธ์ 2562) อนุมัติในหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (โครงการฯ) ในกรอบวงเงิน 6,570.4 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี อย่างไรก็ตาม โดยที่ขณะนั้น พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้กระทรวงคมนาคม (คค.) จึงได้มีนโยบายให้ รฟท. ทบทวนแนวทางการลงทุนโครงการฯ โดยพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวก่อน รฟท. จึงศึกษาแนวทางการลงทุนใหม่ และได้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากเดิมรัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เป็นรัฐลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและงานระบบไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนในส่วนของการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าและงานให้บริการเดินรถพร้อมการบำรุงรักษา ส่งผลให้โครงการฯ เกิดความล่าช้า และกรอบวงเงินของโครงการฯ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยค่างานโยธาและระบบรางเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,874.29 ล้านบาท เป็น 4,060.80 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 186.51 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม โดยที่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ค่าเวนคืนที่ดิน มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้กรอบวงเงินรวมของโครงการฯ ลดลง จากเดิม 6,570.4 ล้านบาท เป็น 6,473.98 ล้านบาท (ลดลง 96.42 ล้านบาท) คค. จึงเสนอขอปรับลดกรอบวงเงินรวมของโครงการมาในครั้งนี้ ตลอดจนขอปรับระยะเวลาโครงการฯ จากเดิม 5 ปีเป็น 4 ปี ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องต่อการปรับกรอบวงเงินโครงการดังกล่าว
2. เดิมโครงการฯ มีแผนจะเริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 และจะเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือนตุลาคม 2565 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความล่าช้าไปจากแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ข้างต้น จึงเห็นควรให้ คค. กำกับการดำเนินงานโครงการฯให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อให้โครงการฯ สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 ตามที่กำหนดในแผนงาน ตลอดจนให้ คค. บริหารจัดการโครงการฯให้อยู่ภายในกรอบวงเงินที่ได้ขอปรับลดลงด้วย
ประโยชน์จากการก่อสร้างโครงการฯ
โครงการฯ เป็นส่วนต่อขยายโครงข่ายจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต ที่จะรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานีในการเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางและแบ่งเบาภาระการจราจรทางถนนในการรับส่งประชาชนที่มาจากชานเมืองได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางรถไฟในกรุงเทพมหานครในการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเดินรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รวมทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองของ รฟท. โดยจะช่วยประหยัดและลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศ และส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบราง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอยต่อของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปทุมธานีให้สามารถเข้าถึงระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่งผลให้การบริการด้านการขนส่งสาธารณะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 7 มกราคม 2568
1091