ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มท. ได้รับรายงานจากกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าได้ดําเนินการวางและจัดทําผังเมืองรวมชุมชนวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ในท้องที่ตําบลวัฒนานคร และตําบลห้วยโจด อําเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 โดยเป็นผังพื้นที่เปิดใหม่ เพื่อสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนวัฒนานครให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาด้านการค้า และการบริการ รวมทั้งการสงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรม
2. ในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ได้มีมติเห็นชอบผังเมืองรวมดังกล่าว และนําไปปิดประกาศเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแสดงข้อคิดเห็นปรากฏว่าไม่มีผู้มีส่วนได้เสีย ยื่นคําร้อง
3. ต่อมาได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ. 2562 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ และได้แก้ไขรูปแบบการประกาศใช้บังคับกฎหมายในส่วนของผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทําผังขึ้นใหม่ โดยให้ดําเนินการประกาศใช้บังคับเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย (เดิมประกาศใช้บังคับเป็นกฎกระทรวง) ประกอบกับมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมืองฯ บัญญัติให้บรรดาผังเมืองรวมที่อยู่ระหว่างดําเนินการวางและจัดทําตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติ การผังเมือง พ.ศ. 2562 ใช้บังคับการดําเนินการต่อไปสําหรับการนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการผังเมืองกําหนด และในการประชุมคณะกรรมการผังเมือง ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทําผัง ซึ่งคณะกรรมการผังเมือง (ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518) ได้ให้ความเห็นชอบแล้วและอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายให้ดําเนินการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้บังคับต่อไป
4. ร่างประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในท้องที่ตําบล วัฒนานคร ตําบลห้วยโจด อําเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่รวมทั้งหมด 67.81 ตารางกิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา และการดํารงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการเพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับและสอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีสาระสําคัญดังต่อไปนี้
4.1 ส่งเสริมและพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้สอดคล้องกับ การขยายตัวของชุมชนและระบบเศรษฐกิจ
4.2 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนวัฒนานครให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา ด้านการค้าและการบริการและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
4.3 บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ
4.4 ส่งเสริมและพัฒนาการบริการทางสังคม การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอและได้มาตรฐาน
4.5 สงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรม
4.6 อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. กําหนดประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น 12 ประเภท ดังนี้
ประเภท |
วัตถุประสงค์ |
|
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) |
เป็นพื้นที่รอบนอกชุมชนเมืองต่อจากพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่เบาบาง เพื่อรองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัย ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีรวมทั้งรองรับการขยายตัวด้านการอยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้หลายประเภทเช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว โดยมีข้อจํากัดเรื่องขนาดของอาคาร ซึ่งต้องไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ |
|
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย หนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) |
เป็นพื้นที่บริเวณต่อเนื่องกับพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางในการรองรับการอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับย่านพาณิชยกรรมมีการก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยได้ทุกประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หอพัก อาคารชุด อาคารอยู่อาศัยรวม โดยมีข้อจํากัดเรื่องขนาด |
|
3. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) |
เป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรมของชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและการบริการของชุมชนเพื่อรองรับการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การบริการที่ให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งกําหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากเพื่อรองรับการประกอบกิจการดังกล่าวและการอยู่อาศัยในเขตชุมชน |
|
4. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) |
เป็นอุตสาหกรรมที่กําหนดให้อยู่นอกชุมชน พื้นที่ราบ และอยู่ในบริเวณที่สะดวกแก่การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การคมนาคมและขนส่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประกอบอุตสาหกรรมได้ทุกชนิดและประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพการทางเศรษฐกิจและการลงทุน ภาคเอกชนหรือนโยบายของรัฐบาล มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตอุตสาหกรรม ซึ่งกําหนดให้มีที่ว่างโดยรอบภายในแนวเขตของที่ดินประเภทนี้ไม่น้อยกว่า 12 เมตร เว้นแต่เป็นการก่อสร้างเพื่อการคมนาคมเพื่อเป็นแนวป้องกันพื้นที่อื่นโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรม |
|
5. ที่ดินประเภทคลังสินค้า (สีเม็ดมะปราง) |
เป็นพื้นที่สําหรับคลังสินค้าที่มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เพื่อจัดเก็บสิ่งของเป็นจํานวนมาก รวมถึงการใช้พื้นที่เป็นลานโล่งเพื่อจัดเก็บกล่องพัสดุขนาดใหญ่ซึ่งมีเฉพาะพื้นที่ที่มีบทบาทพิเศษ กล่าวคือเป็นเมืองศูนย์กลางขนส่งทางบก ทางอากาศ และเป็นพื้นที่ที่มีการคมนาคม สะดวก ซึ่งอยู่ใกล้กับทางรถไฟสายตะวันออก และสนามบินวัฒนานคร มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตคลังสินค้าซึ่งกําหนดให้มีที่ว่าง โดยรอบภายในแนวเขตของที่ดินประเภทนี้ไม่น้อยกว่า 12 เมตร เว้น แต่เป็นการก่อสร้างเพื่อการคมนาคม เพื่อเป็นแนวป้องกันพื้นที่อื่นโดยรอบพื้นที่นี้ |
|
6. ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น การทํานาทําไร่ เลี้ยงสัตว์ การสงวนรักษาพื้นที่เกษตรกรรม |
|
7. ที่ดินประเภทปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สีเขียวมีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล) |
เป็นพื้นที่เขตดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
|
8. ที่ดินประเภทที่โล่ง เพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สีเขียวอ่อน) |
เป็นพื้นที่โล่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสงวนไว้เป็นที่โล่งสําหรับนันทนาการ การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสาธารณประโยชน์ กรณีที่ดินซึ่งเป็นของรัฐ ได้แก่ สวนสาธารณะเทศบาลตําบลวัฒนานคร สําหรับกรณีที่ดิน ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ดินในบริเวณแนวขนานระยะ 30 เมตรกับริมฝั่งแหล่งน้ำ โดยให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างจํากัด |
|
9 ที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ |
เป็นพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และพื้นที่ของเอกชนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในบริเวณดังกล่าว กรณีที่ดินของป่าไม้มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาหรือบํารุงป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลําธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สําหรับที่ดินซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกําหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับป่าไม้ โดยมีการผ่อนปรนให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการดํารงอยู่ได้ เช่น การอยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ซึ่งมิใช่การจัดสรร และมีข้อจำกัดเรื่องความสูงและขนาดของอาคารต้องไม่ใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ |
|
10. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดพื้นที่ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตสระแก้ว โรงเรียนบ้านเนินผาสุก โรงเรียนอนุบาลศรีวัฒนาวิทยา โรงเรียนวัฒนานคร |
|
11. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่สถาบันศาสนาตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน เช่น วัดหนองคุ้ม วัดสุธรรมาวาส วัดนครธรรม |
|
12. ที่ดินประเภทสถาบันราชการการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันราชการ การดําเนินกิจการของรัฐที่เกี่ยวกับการสาธารณูปโภค สาธารณูปการหรือสาธารณประโยชน์ เช่น ที่ว่าการอําเภอวัฒนานคร หมวดการทางวัฒนานคร (แขวงการทางสระแก้ว) สถานีรถไฟวัฒนานคร สํานักงานเทศบาลตําบลวัฒนานคร |
6. กําหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ให้ดําเนินการได้ในที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีแดง) ที่ดินประเภทคลังสินค้า (สีม่วง) ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
7. กําหนดการใช้ที่ดินในบริเวณแนวถนนสาย ก 1 ถนนสาย ก 2 ถนนสาย ก 3 ถนนสาย ก 4 ถนนสาย ข ถนนสาย ค 1 ถนนสาย ค 2 ถนนสาย ค 3 ถนนสาย ค 4 ถนนสาย ค 5 ถนนสาย ง 1 และถนนสาย ง 2 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายประกาศ โดยให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการตามที่กําหนดดังต่อไปนี้
7.1 การสร้างถนนหรือเกี่ยวข้องกับถนน และการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
7.2 การสร้างรั้วหรือกําแพง
7.3 เกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมที่มีความสูงของอาคารไม่เกิน 9 เมตร หรือไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 7 มกราคม 2568
1087