หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov แพทองธาร9

ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8 ฉบับ โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมาย ร่วมรับรองเอกสารในข้อ 2.1-2.8 รวม 8 ฉบับ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง 

          1. ประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The 5th ASEAN Digital Ministers’ Meeting : The 5 th ADGMIN) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The 5 th ASEAN Digital Senior Officials’ Meeting : The 5th ADGSOM) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม 2568 ณ โรงแรมอนันตราริเวอร์ไซด์ และโรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) “มั่นคง นวัตกรรม ครอบคลุม : ร่วมกำหนดอนาคตดิจิทัลของอาเซียน” (Secure, Innovative, Inclusive : Shaping ASEAN’s Digital Future)

          2. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ที่จะรับรองระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวม 8 ฉบับ ดังนี้

              2.1 ร่างปฏิญญาดิจิทัลกรุงเทพ (Bangkok Digital Declaration) สาระสำคัญ ได้แก่ การมุ่งเน้นผลงานความร่วมมือระดับภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (WG - AS) พร้อมผลักดันรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามออนไลน์ การพัฒนาแนวทางเพื่อประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตของวิสาหกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล การสนับสนุนระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ผ่านคณะทำงานอาเซียนด้านธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (WG - AI) การไหลเวียนข้อมูลภายในอาเซียนผ่านคณะทำงานอาเซียนด้านการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล (WG - DDG) การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถระดับภูมิภาค การเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครอบคลุม การกำหนดอนาคตด้วยแผนแม่บทดิจิทัลฉบับใหม่ และการกระชับความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน

              2.2 ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (Joint Media Statement) เป็นเอกสารที่ระบุถึงสาระสำคัญของผลการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาและภาคีภายนอก เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025

              2.3 ร่างรายงานโครงการศึกษาขั้นตอนการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identification in ASEAN - Baseline study on how ASEAN leverage the digitalization of ID) เป็นรายงานผลการดำเนินโครงการศึกษาขั้นตอนการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน 

              2.4 ร่างเอกสารแผนปฏิบัติการสำหรับกฎระเบียบความเป็นส่วนตัวข้ามพรมแดนระดับสากล และการรับรองความเป็นส่วนตัวระดับสากลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูล (Operational Framework for Global Cross -Border Privacy Rules : Global CBPR and Global Privacy Recognition for Processors : Global PRP) เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับกฎระเบียบความเป็นส่วนตัวข้ามพรมแดนระดับสากล (Global CBPR) และการรับรองความเป็นส่วนตัวระดับสากลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูล (Global PRP) เพื่อสนับสนุนการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนในอาเซียน

              2.5 ร่างเอกสารเพิ่มเติมแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียนโดยครอบคลุมถึงปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Expanded ASEAN Guide on AI Governance and Ethics - Generative AI) เป็นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลและจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน โดยคำนึงถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI : Gen AI)

              2.6 ร่างรายงานการสำรวจกิจกรรมการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียน (พ.ศ. 2566-2567) ภายใต้คณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (Report of the Online Scams Activities in ASEAN (2023 - 2024) under the ASEAN Working Group on Anti - Online Scam : WG -AS) เป็นการสำรวจกิจกรรมการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียน เพื่อระบุประเภทและรูปแบบของการหลอกลวงออนไลน์ กลุ่มเป้าหมาย ความสูญเสียทางการเงิน และประสิทธิภาพของมาตรการที่ใช้ในการตอบโต้อาชญากรรมเหล่านี้ ข้อมูลรวบรวมจากการสำรวจเชิงโครงสร้าง โดยมุ่งเน้นที่หน่วยงานกำกับดูแลหลักและหน่วยงานต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ในแต่ละประเทศ เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มความท้าทายและการตระหนักรู้ของการหลอกลวงออนไลน์ในภูมิภาค

              2.7 ร่างเอกสารข้อแนะนำของอาเซียนในการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ (ASEAN Recommendations on Ant - Online Scam) เป็นเอกสารข้อเสนอแนะสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อจัดการกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ผ่านช่องทางดิจิทัลและโทรคมนาคม เช่น การยกระดับการฝึกอบรมระดับชาติและพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ การจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคเพื่อให้ความรู้กับประชาชน การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการหลอกลวงและข้อมูลเชิงกลยุทธ์อย่างทันท่วงที การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลและธุรกรรมทางดิจิทัล ส่งเสริมการสร้างความรับผิดชอบของสื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น การพัฒนากลไกและยุทธ์ศาสตร์ เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนและองค์กรรายสาขาอื่นของอาเซียน

              2.8 ร่างเอกสารกรอบการบูรณาการบริการรัฐบาลดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Government Interoperability Framework) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริการดิจิทัลข้ามพรมแดนและเป้าหมายการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาค โดยเน้นความเชื่อมโยงกันในด้านการเมือง กฎหมาย องค์กรและเทคนิค 

          ประโยชน์และผลกระทบ

          ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว เป็นเอกสารแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เข้มแข็งและครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนากรอบการบริหารจัดการข้อมูล การป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ การลดปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ การกำกับดูแลการใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมในโลกไซเบอร์ พร้อมผลักดันการบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในระดับโลก

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 7 มกราคม 2568

 

 

1097

Click Donate Support Web 

MTI 720x100


Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100pxAXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!